เมนูนี้ที่ใครๆก็รัก “ส้มตำ” Part.1

ส้มตำ เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย เรียกได้ว่าทุกเพศ ทุกวัย แต่ว่าจะเป็นที่โปรดปรานมาก โดยเฉพาะสาวๆ เรียกได้ว่าเป็นอาหารประจำตัวกันเลยก็ว่าได้ ส้มตำเป็นอาหารที่มีรสชาติกลมกล่อม โดยทั่วไปจะมีรสชาติ เผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม ซึ่งต้องบอกว่ามีแทบทุกรสในจานเดียว จึงเป็นที่นิยมของคนทุกวัย

ส่วนประกอบ หรือวัตถุดิบในการทำเมนูส้มตำนั้น โดยพื้นฐานจะประกอบไปด้วย มะละกอดิบสับหรือขูดเป็นเส้น พริกขี้หนู กระเทียม มะเขือเทศ มะนาว น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา เบื้องต้นหากได้วัตถุดิบเท่านี้ก็สามารถปรุงส้มตำได้อร่อยแล้ว แต่ถ้าเพิ่มปูเค็มหรือปลาร้าและถั่วฝักยาว ก็จะอร่อยมากยิ่งขึ้น ในส่วนการปรุงนั้นก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ใครชอบแบบไหนก็ปรุงแบบนั้น บางคนเน้นรสเค็มก็ใส่น้ำปลาหรือปลาร้าเยอะหน่อย บางคนเน้นรสเปรี้ยวก็เน้นใส่น้ำมะนาวหรือมะขามเปียก ชอบเผ็ดก็เน้นพริก ถูกปากใครก็ถูกปากมัน เราว่าอร่อย อีกคนไม่อร่อยก็ย่อมได้ ดังนั้นปรุงตามใจคนกินดีที่สุด

ที่มาของ “ส้มตำ”

เกริ่นมาซะยืดยาวเข้าเรื่องกันดีกว่า อย่างที่รู้กันส้มตำเป็นเมนูที่ถูกใจคนไทยมานาน แต่จะมีใครรู้บ้างไหมว่า อันที่จริงแล้วส้ตำมีต้นกำเนิด หรือประวัติความเป็นมายังไง ในบทความนี้ก็จะขอเล่าเท่าที่สืบหามาได้ว่า ส้มตำมีที่ไปที่มาได้อย่างไร เพราะหากจะถามจริงๆแล้วก็หาต้นต่อไม่เจอเหมือนกัน ดังนั้นอาจจะต้องอ้างอิงจากที่มาหรือการวิเคราะห์จากหลายๆที่มาประกอบกันคงจะดีที่สุด

โดยในที่นี้จะขออ้างอิงถึงตำราอาหาร แม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งเขียนโดย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕) ซึ่งอาจจะพบว่าไม่มีสูตรอาหารที่ชื่อว่าส้มตำเลย แต่มีเพียงอาหารที่เครื่องปรุงและวัตถุดิบใกล้เคียงกัน จนพอจะถือได้ว่าคล้ายส้มตำ โดยในเมนูอาหารนี้จะใช้มะขามเป็นส่วนผสมหลักและใช้ชื่อว่า ปูตำ ปรากฏอยู่ในเล่มที่ ๓ น. ๙๘

ความสงสัยก็มากยิ่งขึ้น จึงไปค้นว่านอกจากเมนูปูตำที่มีวิธีหรือวัตถุดิบที่คล้ายกับการทำส้มตำในปัจจุบันนั้น เรายังมีอาหารที่มีชื่อว่า ส้มตำ บางหรือไม่ ก็พบว่าในอดีตเราก็มีตำราอาหารที่มีชื่อเมนูว่า ข้าวมันส้มตำ อยู่ในตำราอาหารเก่าแก่ เช่น ตำหรับเยาวภา ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท โดยส่วนประกอบสำคัญในการทำเมนูนี้ก็คือ ข้าวมันหุงด้วยกะทิ และส่วนของส้มตำซึ่งใช้มะละกอเป็นหลัก นอกจากนี้ก็จะมี กุ้งแห้ง ถั่วลิสงป่น แต่รสชาติจะออกไปทางหวาน ไม่ได้จัดจ้านเหมือนส้มตำในปัจจุบัน

ดังนั้นคาดว่าส้มตำที่เราได้รับประทานกันในปัจจุบัน คงมีการปรับนู่นนี่นิด นั่นหน่อยจนเป็นที่ถูกปาก จึงทำต่อๆกันมาโดยไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่ามากจากใครหรือที่ไหนกันแน่ แต่เมนูนี้ถือเป็นอาหารอีสาน เพราะด้วยวิธีการปรุง และวัตถุดิบบางอย่างเช่น ปลาร้า ก็เป็นอาหารทางแทบภาคอีสาน ดังนั้น คนอีสานจึงทำและปรุงมาจนได้รสชาติที่จัดจ้าน และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคในไทย ไปจนถึงต่างประเทศ ว่าแซ่บอีหลี…

ในบทความหน้าเราจะมาแนะนำเกี่ยวกับส้มตำในปัจจุบันกัน อย่าลืมติดตามนะคะ…!!!